ทีมชาติไทยเป็นเต้ยของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มาเป็นเวลายาวนานนับสิบๆปี พวกเรามีเป้าหมายมองไปที่ระดับเอเชีย แต่จนแล้วจนรอดมาจนถึงทุกวันนี้ก็ยังไม่สามารถยกระดับขึ้นไปได้เสียที อะไรคือสาเหตุที่ทำให้ ฟุตบอลไทย ถึงไปไม่พ้นระดับ อาเซียน?
ฟุตบอลไทย เสียหน้าไม่ได้
การแข่งขันที่ไม่ได้มีความสำคัญกับอันดับ ฟีฟ่าแร้งกิ้ง อย่าง ซีเกมส์ หรือ เอเอฟเอฟ ซูซูกิ คัพ ซึ่งเป็นเพียงการแข่งขันกันเองในภูมิภาคเอเชียตะวันเฉียงใต้ (อาเซียน) ซึ่งจากสถิติที่ผ่านมา “ช้างศึก” เป็นจ้าวของแถบนี้มาตั้งแต่อดีต แต่เวลาผ่านไปหลายสิบปี ไทยกลับยังคงวนเวียนอยู่ที่เดิม
เหตุผลคือเราไปให้ความสำคัญกับความเป็น “คิง ออฟ อาเซียน” มากเกินไป เพื่อไม่ให้เสียหน้าแพ้เพื่อนบ้าน จึงจัดเต็มส่งทีมชุดที่ดีที่สุดลงสนาม ซึ่งแน่นอนว่าด้วยศักยภาพที่เหนือกว่าทำให้เราประสบความสำเร็วคว้าแชมป์มาได้มากที่สุด
แต่การจัดเต็มแบบนี้กลับเป็นตัวฉุดรั้งให้เราไม่เกิดการพัฒนา ทั้งๆที่รายการแบบนี้ควรจะเป็นพื้นที่ของบรรดาแข้งดาวรุ่งได้เก็บประสบการณ์เพื่อต่อยอดขึ้นไปให้กับทีมชุดใหญ่ได้ แต่คำว่า “ห้ามแพ้ เดี๋ยวจะเสียหน้า” ทำให้พวกเขาเหล่านั้นไม่ได้รับโอกาส
กลับกันเมื่อไปดูตัวอย่างของทีมระดับทวีปเอเชียอย่าง ญี่ปุ่น พวกเขามักจะคิดถึงอนาคตให้ความสำคัญกับผู้เล่นอายุน้อยเสมอ เกมสำคัญระดับชิงแชมป์เอเชียรุ่นอายุไม่เกิน U23 ทัพ “ซามูไรบลูส์” เลือกที่จะส่งดาวรุ่งชุด U21 ลงเล่น เพื่อจะให้นักเตะทั้งชุดเตรียมตัวต่อเนื่องไปจนถึงรายการต่อไป เช่น โอลิมปิก หรือการแข่งขันรายการระดับ U21 ก็เลือกที่จะให้นักเตะชุด U19 แบกอายุลงเล่น เป็นต้น ซึ่งโมเดลการเล่นแบบนี้ไม่ใช่แค่ ญี่ปุ่น เท่านั้นที่ทำ บรรดาทีมระดับท็อปของเอเชียส่วนใหญ่ก็ใช้วิธีนี้เพื่อฝึกฝนผู้เล่นอายุน้อยเช่นกัน

นอกจากเรื่องประสบการณ์ที่เสียไปแล้ว เรื่องปัญหาด้านสภาพร่างกายก็เป็นอีกข้อที่เป็นผลกระทบไม่ดีจากคำว่า “เสียหน้าไม่ได้” วิธีการเล่นของทีมชาติต่างในโซนบ้านเรา ต้องยอมรับว่ายังห่างชั้นกับทีมฟุตบอลระดับท็อป จึงมักจะควบคุมอารมณ์กันไม่อยู่ ตอนที่ทีมสกอร์ตามหลังก็เกิดอาการหัวร้อนวิ่งไล่เตะ(คน) ซึ่งบรรดาผู้เล่นของทีมชาติไทยโดนอยู่บ่อยครั้ง ซึ่งส่งผลให้นักเตะตัวหลักของทีมชุดใหญ่แทนที่จะได้รักษาสภาพร่างกายความสดความฟิตเอาไว้ กลับต้องมาบาดเจ็บกับการแข่งขันทัวร์นาเมนต์ที่ไม่ได้สำคัญอะไรนัก และเมื่อถึงยามที่ต้องลงเล่นทัวร์นาเมนต์สำคัญๆ นักเตะจะมีปัญหาเรื่องเกี่ยวกับสภาพร่างกาย จนพาฟอร์มการเล่นในสนามของทีมดิ่งลงไปด้วย
การจัดการที่ผิดพลาด
ปัญหาเรื่องสมาคมฟุตบอลที่ดูขาดความเป็นมืออาชีพ ยังคงเป็นของคู่กับฟุตบอลไทยมาจนถึงทุกวันนี้ แม้จะมีการเปลี่ยนแปลงนายกสมาคมแล้วก็ตาม
ข้ออ้างที่บอกว่าทีมชาติเรามีเวลาซ้อมด้วยกันน้อยก่อนลงสนามแข่งขันเป็นคำที่ได้ยินจนชินชา ทั้งๆที่ปฎิทินการแข่งขันฟุตบอลในแต่ละปีมีมาให้ก่อนแล้ว แต่ก็ยังบริหารเวลาให้ลงตัวไม่ได้ ตัวอย่างเช่น การแข่งขันฟุตบอลชิงแชมป์เอเชียรุ่นอายุไม่เกิน 23 ปี ที่ผ่านมาล่าสุด ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่า ทีมชาติไทยชุดเล็ก มีเวลาลงซ้อมปรับแท็กติกกับโค๊ชใหม่แค่เพียงวันเดียวเท่านั้นก่อนลงสนาม
แค่สิ่งที่สมาคมควบคุมได้อย่างกำหนดการแข่งต่างๆของฟุตบอลสโมสรภายในประเทศ ยังต้องมาปรับแก้เปลี่ยนแปลงไปมากันทุกๆปี ด้วยความไม่เป็นมืออาชีพนี้ฉุดรั้งให้ไทยไม่สามารถไปไกลได้มากกว่านี้

ลูกรัก, เด็กเส้น
สำหรับนักเตะที๋โค๊ชทีมชาติชื่นชอบแล้วเรียกมาติดทีมชาติตลอดอาจจะเข้าใจได้ส่วนหนึ่งว่าผู้เล่นคนดังกล่าวมีสไตล์การเล่นที่เหมาะสมกับแท็กติกของโค๊ชในยุคนั้นๆ ซึ่งทีมชาติต่างๆทั่วโลกก็มักจะมีนักเตะแบบนี้อยู่ในทีม
อย่างไรก็ตามหากนักเตะคนนั่นเล่นไม่ออกก็มักจะโดนเปลี่ยนออก หรือโดนพักข้างสนามในเกมต่อมา แต่เหตุการณ์แบบนี้มักจะไม่เกิดขึ้นกับบอลไทยเท่าไหร่นัก ไม่ว่าฟอร์มส่วนตัวของผู้เล่นจะไม่ดี หรือมีนักเตะในตำแหน่งเดียวกันที่โชว์ฟอร์มได้ดีกว่าในขณะนั้น ผู้เล่นที่จะได้ลงสนามก็ยังคงเป็นลูกรักคนเดิมๆ
ยังรวมไปถึงปัญหาเด็กเส้นที่ไม่น่าจะมีในยุคสมัยนี้แล้ว ทว่าที่ผ่านมาเรายังกลับรับรู้ได้ถึงความเกรงใจของโค๊ชที่มีต่อผู้บริหาร เลือกที่จะเรียกนักเตะที่ไม่ได้โชว์ฟอร์มโด่นเด่นในลีกเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของทีมชาติ ทั้งๆที่ในลีกกับสโมสรยังมีผู้เล่นอีกมากมายที่ทำได้ดีกว่า เท่านั้นไม่พอบรรดานักเตะที่ติดทีมชาติมาแบบงงๆยังได้รับโอกาสส่งลงสนามอีกด้วย
หากเรายังหนีไม่พ้นกับระบบอุปถัมภ์ ซึ่งเป็นนิสัยของคนไทยมาอย่างยาวนาน ความหวังที่จะขยับเข้าไปใกล้เคียงกับระดับเอเชียคงเป็นไปไม่ได้ แล้วก็จะอยู่แค่เพียงในกะลาไม่หลุดพ้นจากความภาคภูมิใจปลอมๆว่าเราคือ “คิง ออฟ อาเซียน”