วันนี้ทาง ballthai จะพาไปรู้จักกับประวัติความเป็นมาของ มาโน่ โพลกิ้ง กุนซือคนล่าสุดของทัพ “ช้างศึก” ว่ามีที่มาที่ไปอย่างไร ก่อนที่เขาจะมารับหน้าที่ผู้ฝึกสอนให้กับฟุตบอลทีมชาติไทย
เส้นทางสมัยค้าแข้งของ มาโน่ โพลกิ้ง
อเล็กซานเดร โพลกิ้ง หรือที่รู้จักกันดีในชื่อ “มาโน่” เกิดเมื่อวันที่ 12 มีนาคม ค.ศ. 1976 ที่ประเทศบราซิล ก่อนที่จะไปเติบโตที่ประเทศเยอรมัน คนจึงถือสองสัญชาติ บราซิเลียน-เยอรมัน
สมัยที่เป็นนักเตะ มาโน่ ลงเล่นในตำแหน่งตัวรุกทางริมเส้น และมิดฟิลด์ โดยเริ่มต้นค้าแข้งในระดับอาชีพครั้งแรกที่เยอรมันในปี 2001 ชีวิตของเขาโลดแล่นอยู่ในเยอรมัน 5 ปี ผ่านการเล่นให้สโมส เฟาเอฟเบ บีเลเฟลด์, อาร์มีเนีย บีเลเฟลด์ และ ดาร์มสตัดท์
ก่อนที่จะย้ายไปเล่นที่ลีกประเทศไซปรัส กับสโมสร โอลิมเปียกอส นิโคเซีย และ อาโปเอล นิโคเซีย จากนั้นก็ตัดสินใจแขวนสตั๊ดไปเมื่อปี 2007 ขณะที่อายุเพียง 31 ปี
เส้นทางทางด้านผู้จัดการทีมของ มาโน่ โพลกิ้ง
หลังจากยุติหน้าที่นักฟุตบอล มาโน่ ก็มุ่งเน้นกับการเป็นโค๊ชอย่างเต็มตัว โดยเขาเริ่มจากเป็นผู้ช่วยของ วินฟรีด เชเฟอร์ ที่สโมสร อัล ไอน์ (สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์) และ เอฟซี บากู (อาเซอร์ไบจาน)
ปี 2011 วินฟรีด เชเฟอร์ ก็ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นกุนซือของทีมชาติไทย แน่นอนว่า มาโน่ ก็ติดตามมาเป็นหนึ่งในทีมงานของกุนซือเฒ่าชาวเยอรมันด้วยเช่นกัน

จนกระทั่งปี 2013 เชเฟอร์ ทำผลงานได้อย่างน่าผิดหวังกับทีมชาติไทย จึงโดนปลดออกจากตำแหน่ง ก่อนที่ เชเฟอร์ จะได้ย้ายไปคุม เมืองทอง ยูไนเต็ด แต่ทว่าคราวนี้ “มาโน่” ไม่ได้ติดตามไปรับบทมือขวาของเชเฟอร์แล้ว เขาเลือกที่จะรับงานเป็นเฮดโค๊ชแบบเต็มตัวกับสโมสร อาร์มี่ ยูไนเต็ด
นอกจากสโมสร “สุภาพบุรุษวงจักร” กุนซือชาวบราซิเลียน-เยอรมัน ก็รับหน้าที่เป็นโค๊ชของทีมบนลีกสูงสุดประเทศไทยอีกหลายทีมทั้ง สุพรรณบุรี เอฟซี และ ทรู แบงค็อก ยูไนเต็ด รวมระยะเวลาถึง 10 ปี(รวมเป็นผู้ช่วยทีมชาติ) ที่ “มาโน่” มาปักหลักอยู่ในประเทศไทย ก่อนจะย้ายไปคุมทีม โฮจิมินห์ ซิตี้ ในศึกวีลีก ของเวียดนาม ฤดูกาล 2020/21 ซึงตลอดเวลากว่า 10 ปี เขาไม่เคยคว้าแชมป์กับสโมสรใดเลยแม้แต่รายการเดียว
อย่างไรก็ตามฝีมือการคุมทีมของเขาก็ไม่ธรรมดา สร้างชื่อให้กับตัวเองสมัยที่รับหน้าที่นำทัพ ทรู แบงค็อก ยูไนเต็ด ช่วยปลุกปั้นให้ “แข้งเทพ” กลายเป็นทีมที่เล่นเกมรุกได้เร้าใจที่สุดในลีก และเกือบจะพาทีมคว้าถ้วยแชมป์ได้ แต่น่าเสียดายที่ไปไม่ถึงฝันต้องรับบทพระรองถึง 3 ครั้ง รองแชมป์ ไทยลีก ปี 2016, 2018 และ เอฟเอ คัพ 2017
รับหน้าที่เฮดโค๊ช ทีมชาติไทย
เมื่อปี 2021 กุนซือชาวบราซิเลียน-เยอรมัน ได้รับการติดต่อจากสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย ให้เข้ามารับตำแหน่งผู้ฝึกสอนของทัพ “ช้างศึก” แทนที่ของกุนซือชาวญี่ปุ่น อากิระ นิชิโนะ ที่ไม่สามารถทำผลงานได้ตามเป้า โดยข้อเสนอในช่วงแรกเป็นแค่สัญญาระยะสั้นเท่านั้น
ทว่า “มาโน่” กลับทำผลงานได้อย่างยอดเยี่ยมด้วยการพา ทีมชาติไทย เป็นแชมป์ เอเอฟเอฟ ซูซูกิ คัพ 2020 (AFF SUZUKI CUP 2020) ซึ่งถือเป็นถ้วยแชมป์แรกในชีวิตของเขาอีกด้วย ด้วยผลงานอันโดดเด่นส่งผลให้สมาคมฟุตบอลไทย ตัดสินใจต่อสัญญากกับเขายาวไปถึงปี 2023 ชายคนนี้จะเป็นกุนซือที่ใฝ่ฝันมานานของทีมชาติไทยหรือไม่ ต้องรอติดตามกันต่อไป…

เหตุผลที่ มาโน่ โพลกิ้ง ได้รับตำแหน่งโค๊ชทีมชาติไทย
ก่อนที่จะได้รับหน้าที่จะได้มาคุมทัพ “มาโน่” ไม่เคยประสบความสำเร็จคว้าแชมป์เลยแม้แต่ครั้งเดียว นับตั้งแต่สมัยที่เป็นผู้เล่น หรือผู้จัดการทีม แต่ก็เชื่อว่าเหตุผลเหล่านี้ส่งเสริมให้เขาผ่านการคัดเลือกของสมาคม
- มีประสบการณ์เกี่ยวกับวงการฟุตบอลไทยกว่า 10 ปี – ชื่อชั้นความเป็นโค๊ชของ “มาโน่” เทียบไม่ได้เลยกับกุนซือคนก่อนหน้าของทีมชาติไทยทั้ง มิโลวาน ราเยวัช และ อาคิระ นิชิโนะ แต่เขามีสิ่งที่เหนือกว่าคือประสบการณ์ในประเทศไทย และยังเคยคุมทีมชุด U-22 มาในช่วงเวลาสั้นๆ เมื่อปี 2013 กับการคุมทีมในไทยลีกมาอย่างยาวนาน จึงรู้จักคุ้นเคยกับนักเตะชาวไทยเป็นอย่างดี
- รู้จักวัฒนธรรมไทยเป็นอย่างดี – ต้องยอมรับว่าข้อนี้ของนักเตะไทยไม่ใช้ข้อดีนัก พวกเขามักจะทำได้ดีกับผู้จัดการทีมที่คุยด้วยได้ และเข้าใจวัฒนธรรม นิสัยใจคอ ของชาวไทย ที่อาจจะไม่เคร่งเครียดเกินไป เห็นได้จากสมัยที่ “ซิโก้” เกียรติศักดิ์ เสนาเมือง คุมทัพ ซึ่งประสบการณ์ที่อยู่ในประเทศไทยมากว่า 10 ปี ทำให้ มาโน่ เข้าใจได้เป็นอย่างดี
- คนไทยชอบเกมรุก – มิโลวาน ราเยวัช และ อาคิระ นิชิโนะ สองกุนซือก่อนหน้าเป็นสไตล์ที่เน้นความเหนียวแน่นไว้ก่อน ซึ่งไม่ได้ผลชัดเจนกับทีมชาติไทยที่ไม่ถนัดเรื่องเกมรับเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ดังนั้น มาโน่ ถือเป็นกุนซือที่ตอบโจทย์ได้มากกว่า สไตล์บอลของทีมเขาเห็นได้ชัดเจนสัมยที่คุม ทรู แบงค็อก ยูไนเต็ด ที่พาทีมยิงกระจายในลีก เน้นเกมรุกเป็นหลัก